fbpx

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับความไว้วางใจ บริการด้านซีเคียวริตี้จาก CAT

“สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”

กับความไว้วางใจ บริการด้านซีเคียวริตี้จาก CAT

“สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” เป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเทียบเท่ากรม โดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร คอยสนับสนุนในเรื่องของการออกพระราชบัญญัติ และกฎหมายต่างๆ เพื่อใช้ภายในราชอาณาจักรไทย โดยสำนักงานเลขาธิการฯ แห่งนี้ ได้กำหนดพันธกิจที่สำคัญ ที่จะช่วยในการสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของสภาผู้แทนราษฎร อาทิ

1. การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

2. พัฒนาระบบการบริหารจัดการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้มีศักยภาพในการสนองตอบภารกิจ ของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา

3. ส่งเสริมเผยแพร่บทบาทภารกิจของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาให้สาธารณชนรับรู้และมีส่วนร่วม ทางการเมืองการปกครอง และ

4. ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทภารกิจของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาด้านต่างประเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศภายในสำนักงานฯ

ในด้านของเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น สำนักงานเลขาธิการฯ ได้ให้ความสำคัญต่องานในส่วนนี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานในส่วนอื่นๆ มีการพัฒนาแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับงาน Back Office หลายอย่าง เช่น แอพพลิเคชันด้านข้อมูลนิติบัญญัติ การเงิน, การบัญชี, ฐานข้อมูล ฯลฯ เพื่อใช้ในสำนักงานฯ รวมทั้งการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันขยายเครือข่ายภายในกว้างถึงระดับ 10 กิกะบิต เชื่อมโยงระบบข้อมูลที่สำคัญและให้บริการข้อมูลหน่วยราชการภายในที่ประจำในแต่ละสาขา

สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ได้มีการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีเครือข่ายและระบบซีเคียวริตี้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะทางสำนักงานเลขาธิการฯ ได้วางนโยบายในการที่จะต้องให้ข้อมูลระบบสารสนเทศจะต้องใช้งานได้ตลอดเวลา อีกทั้งข้อมูลจะต้องไม่ถูกแก้ไข, ถูกทำลาย หรือสูญหาย ฯลฯ ซึ่งนับได้ว่าทั้งสองเทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจในระบบไอทีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการฯ เลยทีเดียว โดยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น สำนักเลขาธิการฯ ได้เลือกใช้บริการจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เชื่อมโยงจากส่วนระบบมายังสาขาต่างๆ เช่น อาคารธนาคารทหารไทย, อาคารดีพร้อม, อาคารทิปโก้ทาวเวอร์, สาขาถนนประดิพัทธ์ โดยผ่านระบบ Metro LAN ของ CAT

วางใจระบบซีเคียวริตี้จาก CAT

ทางด้านของระบบซีเคียวริตี้ที่ใช้งานอยู่ในสำนักเลขาธิการฯ นั้น ก็ยังคงไว้วางใจที่จะเลือกใช้บริการเอาต์ซอร์สของ CAT เพิ่มเติมมากขึ้น โดยสำนักเลขาธิการฯ เริ่มทดลองใช้บริการระบบ “บริการบริหารจัดการล็อกไฟล์ (Secure Log Management Service) ” โดยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจาก CAT เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการฯ สามารถที่จะเก็บข้อมูลรายงานสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทราฟฟิกของตนเองได้ พร้อมกับยังเป็นการคอมไพลต์ตามกฏหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ได้ประกาศใช้แล้วอีกด้วย บริการดังกล่าวช่วยให้สำนักงานเลขาธิการฯ สามารถเอารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์, กลั่นกรอง และทำเป็นรูปแบบรายงาน เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ได้ง่ายมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนบุคลากรที่จะต้องจ้างเพิ่มและต้องเสียเวลามานั่งดูแลเกี่ยวกับล็อกไฟล์เหล่านี้

“บริการบริหารจัดการล็อกไฟล์ของ CAT ช่วยให้สำนักงานเลขาธิการฯ ประหยัดไปได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในเรื่องของอุปกรณ์ที่ต้องซื้อเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งบุคลากรที่ปัจจุบันก็มีน้อยอยู่แล้ว ซึ่งถ้าต้องใช้เจ้าหน้าที่มาคอยมอนิเตอร์และเก็บล็อกไฟล์ ก็คงจะเสียเวลามาก บริการเอาต์ซอร์ส ดังกล่าว จึงเป็นทิศทางที่สำนักงานเลขาธิการฯ จะดำเนินการต่อไป”

นอกจากนั้นแล้วสำนักงานเลขาธิการฯยังมีแผนงานการใช้บริการเอาต์ซอร์สอีกอันหนึ่งคือ Managed Security Services (MSS)” เพื่อที่จะให้ทาง CAT คอยดูแลปัญหาด้านระบบความปลอดภัยข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้กับสำนักงานเลขาธิการฯ ในลักษณะ Real Time ตลอด 24 ชม. อีกด้วย การพิจารณาเลือกใช้บริการ MSS จาก CAT ต่อยอดเพิ่มขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบของสำนักงานเลขาธิการฯ ให้มากขึ้น ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีระบบความปลอดภัยที่ดี, มีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา, ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของสิ่งผิดปกติไม่ว่าจะเป็น ไวรัส, โทรจัน, วอร์ม, มัลแวร์, รวมทั้งแฮกเกอร์ที่จะมาเจาะระบบ และทำการแก้ไขจัดการก่อนที่มันจะเข้าสู่ระบบของสำนักงานเลขาธิการฯ ได้

อรรถประโยชน์ที่คุ้มค่า

การใช้บริการเอาต์ซอร์สทั้ง 2 รูปแบบจาก CAT สามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของระบบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตราล็อกไฟล์ที่เกิดขึ้น, การมอนิเตอร์และจัดการภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสำนักงานฯ รวมทั้งยังสามารถคอมไพลต์หรือปฏิบัติตามกฏหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้

อีกทั้งการใช้บริการเอาต์ซอร์สนี้ ยังช่วยในเรื่องของการประหยัดงบประมาณทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ด้านซีเคียวริตี้ที่จำเป็นต้องซื้อ (หากในกรณีที่ต้องวางระบบเอง), การว่าจ้างเจ้าหน้าที่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม (ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไอทีของสำนักเลขาธิการฯ มีจำนวนจำกัดและมีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องคอยดูแลอยู่แล้ว) รวมถึงการที่จะต้องคอยแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงเข้ามาช่วย  เมื่อเทียบกันแล้ว การใช้บริการเอาต์ซอร์สของ CAT ให้ความคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนอิมพลีเมนต์ระบบซีเคียวริตี้ใหม่ทั้งหมดเอง รวมทั้งยังสามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดต่อผู้ใช้งานได้อีกด้วย