ใช้โซเชียลอย่างมีสติ ถ้าไม่อยากโดน Cyberstalking

28 พฤศจิกายน 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

การถูกสะกดรอยตาม ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่ากลัวและไม่น่าเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่หากสังเกตในชีวิตประจำวันของเราให้ดี มักจะใช้โซเชียลเป็นประจำ เพื่อทำธุรกรรม หรือ ติดต่อสื่อสาร แม้กระทั้งอัปเดตไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันให้เพื่อน และ คนที่เรารู้จักทราบ แต่อาจลืมไปว่าบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่คนรู้จักเราเท่านั้น แต่ยังมีคนอื่น ๆ ที่อาจไม่ประสงค์ดีจนนำไปสู่การคุกคามบนโซเชียลได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจลุกลามไปสู่การคุกคามในชีวิตจริง เช่น ข่มขู่ทำลายชื่อเสียง ถูกคุกคามทางเพศ หรือการดักทำร้ายร่างกาย ไม่ใช้แค่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น หากเกิดขึ้นกับองค์กรก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ด้วยเช่นกัน

Cyberstalking ตามคำนิยามในพจนานุกรมของ Cambridge อธิบายไว้ว่า “ Stalking ” คือ อาชญากรรมที่สะกดรอยตามผู้อื่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง “ Cyber ” คือ การกระทำที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ดังนั้น Cyberstalking เป็นพฤติกรรมที่ติดตามและสะกดรอยตามบุคคลหนึ่งบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่อง ตลอดจนสะกดรอยตามไปยังสถานที่ที่เหยื่ออาศัยอยู่ ยกตัวอย่างกรณี ข่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไอดอลสาวประเทศญี่ปุ่น Ena Matsuoka เป็นสมาชิกวง Tenshitsukinukeniyomi ถูกคนร้ายดักทำร้าย สาเหตุเกิดจากการที่เธอโพสต์ภาพถ่ายลงโซเชียล และคนร้ายใช้ภาพสะท้อนดวงตาของเธอ ในการตามหาและไปยังสถานที่ที่เธออยู่ ณ ตอนนั้น หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผู้ถูกกระทำสามารถเอาผิดได้ หากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย

แนวทางการป้องกันตนเองจากภัย Cyberstalking ทำได้อย่างไรบ้าง

  1. ไม่โพสต์ทุกอย่างลงในโซเชียล

    หากใช้โซเชียลเพื่อต้องการอัปเดตไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันให้เพื่อนและคนที่รู้จักทราบ เช่น การถ่ายรูป ควรปิด Geo-tagging หรือปิด Metadata ของรูปถ่ายเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่าย หรือ การเช็คอินสถานที่ หลีกเลี่ยงการเช็คอินสถานที่ ใกล้ๆที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีตามมายังสถานที่ที่ของเราอาศัยอยู่

  2. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในบัญชีออนไลน์ทั้งหมด

    จำกัดการแชร์เฉพาะกลุ่มคนที่วางใจได้เท่านั้น เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ตั้งค่าไม่ให้โปรไฟล์ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาชื่อของเรา รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็นโพสต์และรูปภาพได้

  3. ระวังการถูกลักลอบเข้าระบบบัญชี เมื่อใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ

    บางครั้งเมื่อเราจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ควรระมัดระวังเรื่อง Malware ต่าง ๆ เช่น Keylogger หรือแม้กระทั่ง Stalkerware เพราะอาจถูกแอบติดตามพฤติกรรมออนไลน์ได้ ทำให้สามารถอ่านข้อความต่าง ๆ เห็นกิจกรรมต่าง ๆ บนหน้าจอ ทราบโลเคชันผ่าน GPS และแอบเปิดกล้องเพื่อการสอดแนม

  4. ใช้ VPN ทุกครั้งเมื่อใช้งานบนเครือข่ายสาธารณะ

    เพื่อความปลอดภัยควรใช้ VPN เป็นเครือข่ายเสมือนจริง (Virtual Private Network) เมื่อต้องการเข้าชมเว็บไซต์ หรือบริการออนไลน์ใด ๆ

  5. Log-out ออกจากระบบทุกครั้ง

    เมื่อใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ หรือ ในบริษัท ควรทำการ Log-out ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และควรล็อคหน้าจอทุกครั้งที่ไม่อยู่โต๊ะถ้าเป็นไปได้ควรตั้งค่าการใช้ Screen Saver พร้อมรหัสผ่านทันทีที่ไม่ได้อยู่หน้าจอ

  6. ตั้งรหัสผ่านให้ซับซ้อนและคาดเดายาก

    ควรตั้งรหัสให้มีความยาว 12 -14 ตัวอักษร ขึ้นไป โดยมีตัวอักษรใหญ่ – ตัวอักษรเล็ก-ตัวเลข รวมกัน เพื่อความความปลอดภัยของ
    บัญชีออนไลน์ต่าง ๆ

  7. ลงโปรแกรมแสกนไวรัสและมัลแวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์

    เพื่อช่วยป้องกันภัย Cyberstalking หากถูกแอบติดตั้ง Stalkerware หรือ Spyware บนคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั้งไวรัส และ มัลแวร์ ตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

  8. อย่าแชร์รหัสผ่านบัญชีออนไลน์ต่าง ๆ ให้คนที่รู้จักทราบ

    ระวังเรื่องการแชร์รหัสผ่านบัญชีโซเชียลกับใครก็ตาม ซึ่งอาจถูกลักลอบเข้าระบบและสร้างความเสียหาย เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ อดีตคนรัก ไม่ว่าจะลงเอยด้วยการแยกทางแบบใดก็ตาม ทางที่ดีควรเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีออนไลน์ ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยใหม่ทั้งหมดทุกครั้งที่มีคนรู้จักทราบ

หากถูกคุกคามจาก Cyberstalking แล้ว ในฐานะเหยื่อควรดำเนินการอย่างไร

  1. ตั้งสติและรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด เช่น ภาพถ่ายที่ถูกแบล็คเมล์ แชทข้อความ หน้าบัญชีคนร้าย ข้อมูลคนร้าย ฯลฯ
  2. เปลี่ยนอีเมลและรหัสผ่านบัญชีออนไลน์ทั้งหมด
  3. แจ้ง Help Center ของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น Facebook
  4. อย่าตอบโต้หรือนัดพบกับ Cyberstalker เด็ดขาด
  5. ติดต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุทันที

Cyberstalking เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดและสามารถแจ้งความได้ที่ใด

ถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่เอาผิด Cyberstalker โดยเฉพาะ เหมือนบางประเทศในแถบตะวันตก แต่พฤติกรรมเช่นนี้ หากเป็นเพียงแอบส่องดูเฉย ๆ อาจจะไม่เกิดความเสียหายชัดเจน แต่ถ้ามีการพัฒนาขึ้นเป็นการคุกคามทางกายภาพที่ทำให้เหยื่อรู้สึกเดือดร้อน รำคาญ และรู้สึกไม่ปลอดภัย อาจเข้าข่ายฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 – ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ฯลฯ

ในกรณีมีการลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเหยื่อด้วยจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 ตามมาตรา 5 ถึง มาตรา 8 ว่าด้วยการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลฯ ของผู้อื่นโดยไม่ชอบซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท

หากต้องการดำเนินคดีแนะนำให้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร หรือ ร้องทุกข์ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็ได้เช่นกัน

อ้างอิงที่มา:
https://us.norton.com/internetsecurity-how-to-how-to-protect-yourself-from-cyberstalkers.html
https://www.tripwire.com/state-of-security/security-awareness/what-cyberstalking-prevent/
https://www.facebook.com/help/116326365118751
https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/stalking
https://www.lawphin.com/detail/law/penal_code-397
https://contentshifu.com/computer-law/

บทความที่เกี่ยวข้อง