Huawei – หัวเหว่ย ทำเอาพวกเราปวดหัวเลย!

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

นับเป็นสัปดาห์ที่น่าปวดหัวสำหรับผู้ใช้ Huawei ทั่วโลกรวมทั้งบ้านเรา เนื่องจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกคำสั่งพิเศษห้ามการจำหน่ายและการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ ในขณะนั้นคำสั่งพิเศษดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อประเทศ บริษัทหรือแบรนด์อย่างชัดเจน แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เพิ่มชื่อ Huawei ในบัญชีบริษัทฯ ที่กระทำการขัดต่อ “ความมั่นคงของชาติและนโยบายการต่างประเทศ”

สรุป Timeline ที่เกิดขึ้นล่าสุด

เมื่อวันอาทิตย์ 19 พค. ที่ผ่านมาหลังประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ Google ออกมาประกาศยุติการดำเนินธุรกิจกับ Huawei มีผลทันที โดยเฉพาะบริการ Google Services License ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ส่งผลให้ Huawei ไม่สามารถใช้ Android OS กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ต่อจากนี้ได้ และไม่สามารถเปิดอัปเดต Android OS ในสมาร์ทโฟนรุ่นเก่าได้ ยกเว้นส่วนที่เป็น Open Source (Android Open Source Project  – AOSP) ซึ่งไม่กระทบ

ดั่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต่อมาไม่นาน Intel และ Qualcomm ผู้ผลิต chip จากสหรัฐฯ ออกประกาศแบนการขายวัตถุดิบให้กับ Huawei ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ Huawei เนื่องจาก Laptop และ Server ของ Huawei ใช้ CPU ของ Intel ในขณะที่มือถือรุ่น Lower End ของ Huawei ใช้ CPU และ Modem Chipset ของ Qualcomm

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ 21 พค. กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ อนุญาตผ่อนผันการห้ามดังกล่าวกับ Huawei เป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 90 วัน (สิ้นสุด 19 ส.ค. นี้) ทำให้ Google ยังสามารถให้บริการ Software แก่ผู้ใช้มือถือ Huawei ได้ โดย Huawei และ Google ต่างยืนยันว่าโทรศัพท์มือถือรุ่นปัจจุบันจะยังได้รับการอัพเดทด้านความปลอดภัยอยู่ และแน่นอน Huawei ยังสามารถสั่ง Chips ของ Intel และ Qualcomm เพื่อสต๊อคเอาไว้หายใจหายคอได้ชั่วคราว

ความเป็นมาของ Huawei

Huawei ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งประเทศจีน ในปี 2530 โดย นาย Ren Zhengfei อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพปลดแอกประชาชน โดยตัวบริษัทมีผู้ถือหุ้นถึง 80,000 คนซึ่งมาจากพนักงานทั้งหมดราว 180,000 คน เช่นเดียวกับแบรนด์ในตำนาน เช่น Nokia หรือ Ericsson บริษัท Huawei ได้ก่อร่างสร้างตัวจากการเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายมือถือ (Mobile Network) มานานหลายปี และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท ได้บุกเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและทุกวันนี้กุมส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 16%

เมื่อเดือน กพ. ที่ผ่านมา ในงาน Mobile World Congress (MWC) Huawei ก็ทำให้โลกต้องตื่นตาตื่นใจกับการเปิดตัว Mate X สมาร์ทโฟนแบบที่มีจอภาพที่พับได้ ทำให้สามารถใช้ในลักษณะมือถือและแท็บเบล็ตได้ในเครื่องเดียวกัน

ที่มาของปัญหาทั้งมวล ทำไมต้องเป็น Huawei ?

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่รัฐบาลสหรัฐฯ เองที่มีความกังวลเกี่ยวกับ Huawei แต่มีรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกที่สั่งห้ามบริษัทโทรคมนาคมของประเทศตนเองจากการใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในการพัฒนาเครือข่ายมือถือรุ่นต่อไป เช่น 5G เนื่องจากวิธีการออกแบบและการใช้งานเครือข่าย 5G ทำให้ยากต่อการตรวจสอบด้านความปลอดภัย

ที่แน่ๆ สหรัฐฯและออสเตรเลียได้สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ Huawei สำหรับเครือข่าย 5G ในประเทศ ขณะที่รัฐบาลแคนาดากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ นอกจากนี้ยังมีความกังวลในหมู่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในยุโรป ยกตัวอย่างเช่น British Telecom เมื่อไม่นานมานี้ ได้ถอดอุปกรณ์ Huawei ออกจากส่วนประกอบของเครือข่าย 4G ในประเทศแล้ว

รัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับปูมหลังทางทหารของ นาย Ren ผู้ก่อตั้ง (ตามที่ได้เกริ่นเรื่องประวัติของ Huawei ไปแล้วข้างต้น) ประกอบกับเหตุผลที่ว่า รัฐบาลจีนกำลังใช้ข้อมูลในลักษณะเพื่อการสอดแนมพลเมืองของตนเอง เช่น เพื่อจัดทำ “คะแนนเครดิตสังคม” (Social Scoring) เป็นต้น ทำให้ทางสหรัฐฯ ไม่มั่นใจใน Huawei ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ว่าจะมีการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลต่อพลเมืองอเมริกันเฉกเช่นที่ปฏิบัติต่อพลเมืองของตนเองหรือไม่

เมื่อปีที่แล้ว มือถือ Huawei ถูกแบนจากเครือข่าย Verizon และ AT&T ซึ่งเป้นเครือข่ายผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลังจากถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัย ในขณะเดียวกันเว็บไซต์ IT ชื่อดัง Tech.Co ได้สัมภาษณ์นักวิเคราะห์อาวุโสด้านความปลอดภัยระดับประเทศ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นไปได้อย่างมากที่มือถือของ Huawei จะถูกนำไปใช้เพื่อการสอดแนม เนื่องจากพบสายสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภายใน Huawei และรัฐบาลจีนซึ่งมีอำนาจสั่งการให้บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei ส่งมอบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์หรือยอมให้เข้าถึงอุปกรณ์ที่ Huawei วางขาย มีความเป็นไปได้สูงที่ทางการจีนสามารถใช้ข้อมูลที่ได้ในการจารกรรมหรือโจมตีทางไซเบอร์

และแล้ว การรุกหนักจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น เมื่อลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei นาง Meng Wanzhou ถูกจับกุมโดยในแคนาดาโดยการร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเธอกำลังช่วยเหลือ Huawei ในการละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน

สรุปผลกระทบต่อผู้ใช้ Huawei

  • ผู้ใช้ Huawei จะไม่สามารถอัปเดต Android OS เป็นเวอร์ชันใหม่ได้ หากเลย deadline การผ่อนผันชั่วคราววันที่ 19 ส.ค. นี้
  • มือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ๆ ของ Huawei ที่จ่อเตรียมวางขายในอนาคต จะไม่สามารถใช้แอพฯ ยอดนิยม อาทิเช่น Play Store, Gmail, Google Drive, Google Maps รวมทั้ง YouTube ได้

ถ้าโดนแบนทั้ง Software และ Hardware อย่างถาวร Huawei จะไปต่ออย่างไร

เป็นเรื่องบังเอิญที่นาย Richard Yu ซีอีโอของ Huawei เพิ่งแถลงข่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองว่า Huawei ได้พัฒนาระบบปฎิบัติการ (OS) เป็นของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2012 ร่วมกับมหาวิทยาลัยเห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจากฝั่งสหรัฐฯ โดยระบบปฎิบัติการดังกล่าวมี code name ว่า Hongmeng ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล Best Innovation Award 2018 จากกระทรวงศึกษาของจีน เชื่อกันว่าทาง Huawei ได้ทดลองระบบโดยการแอบซ่อน Hongmeng OS ไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ของ Huawei มาซักพักแล้ว จึงเป็นที่ต้องจับตาดูว่า OS ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้งานได้จริงและวางตลาดอย่างแพร่หลายหรือไม่

ตามที่ Huawei ถูก Intel และ Qualcomm ผู้ผลิต chip ของสหรัฐฯ แบนร่วมกับ Google นั้น หากย้อนหลังไปเมื่อปีที่แล้ว แบรนด์มือถือ ZTE ของจีนก็เคยถูกแบนชั่วคราวโดยสหรัฐฯ มาแล้วเช่นกัน โดย ZTE ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีจากบริษัทฯ ในสหรัฐฯ เช่น Google, Qualcomm และ Dolby ได้ เนื่องจากมือถือ ZTE ใช้ CPU  Snapdragon ของ Qualcomm เพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบนั้น ZTE จึงหันไปตกลงกับ MediaTek ซึ่งเป็นบริษัทผลิต chip ในไต้หวัน หลังจากผ่านไปสองสามเดือนประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยุติการ ban ดังกล่าง โดยให้เหตุผลเรื่องธุรกิจและการว่างงานที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นเหตุการณ์แบน Huawei ก็อาจจะมีการพลิกผันในทางที่ดีต่อ Huawei ได้เช่นกัน

ผลกระทบจากการถูกแบนจาก Intel และ Qualcomm มีมากเพียงใด? ถ้าพูดถึงมือถือ เป็นที่ทราบกันดีว่า Huawei มีบริษัทลูกชื่อ HiSilicon ออกแบบ chip ตระกูล “KIRIN” ซึ่งเป็น Mobile CPU ใช้เฉพาะในมือถือรุ่น Hi-end ต่างๆ รวมทั้งรุ่น Flagship เช่น P30 Pro ล่าสุดที่วางตลาด จึงทำให้ผลกระทบน่าจะถูกจำกัดวงเพียงรุ่น Lower End ที่ยังใช้ chip ของ Qualcomm อยู่ อย่างไรก็ตาม Huawei ก็ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะผลิต Semi-conductor ได้เอง จึงต้องพึ่งพา ARM ผู้ผลิต chip ของอังกฤษ (ถือหุ้นใหญ่โดย Softbank จากญี่ปุ่น) เป็นฐานการผลิตให้อยุ่ดี

Huawei อาจจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น จากความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่าง Huawei และ Samsung หลังจากที่สองบริษัทยักษ์ตกลงถอนฟ้องคดีสิทธิบัตรต่างๆ ที่มีอยู่ถึง 40 คดีในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งอาจตกลงแชร์สิทธิบัตรซึ่งกันและกัน ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับ Samsung ที่มี chip ตระกูล Exynos ไว้ใช้ในมือถือของตัวเองอีกราย อาจเพิ่มแต้มต่อให้ Huawei ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ก็เป็นไปได้

อ้างอิงที่มา:
https://www.techradar.com/news/googles-huawei-android-restrictions-heres-what-it-means-for-you
https://www.slashgear.com/huawei-can-issue-phone-updates-for-90-days-under-temporary-extension-20577282/
https://www.huaweicentral.com/hongmeng-is-huaweis-first-ever-self-developed-operating-system/
https://wccftech.com/huaweis-hongmeng-kirin-os-is-9-years-old-optimized-for-linux/
https://www.androidauthority.com/intel-qualcomm-huawei-988011/
https://arstechnica.com/gadgets/2019/05/huaweis-us-ban-a-look-at-the-hardware-and-software-supply-problems/
https://www.theverge.com/2019/5/21/18632550/huawei-p30-pro-android-google-executive-order-us-phone-qualcomm-intel
http://www.hisilicon.com/en/Products/ProductList/Kirin
https://www.theverge.com/2019/5/16/18627592/samsung-huawei-patent-battle-china-settlement

บทความที่เกี่ยวข้อง