ระวัง! ดูหนังละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์หรือโหลดหนังฟรี อาจติดมัลแวร์

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

ความนิยมของบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเริ่มบูมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง พร้อมกับความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเหมือนในอดีต อุปกรณ์ที่ใช้ดูสามารถหาซื้อได้ง่ายบนร้านค้าออนไลน์ทั่วไป ทุกวันนี้การสามารถดูหนังออนไลน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งการสตรีมไฟล์วิดีโอจากเว็บไซต์ผู้ให้บริการ หรือผ่านอุปกรณ์ TV Box หรือไม่ก็เป็นแบบ Dongle เสียบเข้ากับข้างสมาร์ททีวีก็ทำให้เราสามารถสตรีมวิดีโอผ่านผู้ให้บริการชั้นนำ เช่น Netflix, Amazon Prime Video และ YouTube TV ได้

ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็มีผู้พัฒนาหลายรายผลิตแอพฯ ที่ทำให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์วิดีโอสตรีมมิ่งเพื่อดูคอนเทนต์ที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ ได้ โดยไม่เสียค่าบริการ จากการสำรวจของ YouGov (องค์กรจัดทำการสำรวจความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต) พบว่า 45% ของผู้ชมชาวไทยหันใช้บริการอุปกรณ์ TV Box ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น ฟิลิปปินส์ (28%) มาเลเซีย (25%) หรือ สิงคโปร์ (15%) ทำให้ทีวีบอกรับสมาชิกของไทยถูกยกเลิกสมาชิกแล้วถึงราว 30% ผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้มีต่อเจ้าของแบรนด์หรือผู้ให้บริการที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคทั่วไป เพราะทั้งอุปกรณ์และคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักมาพร้อมกับภัยร้ายมัลแวร์ (Malware)

หากมัลแวร์ที่แฝงอยู่ในแอพฯ ละเมิดลิขสิทธิ์ถูกโหลดเข้ามาในอุปกรณ์ของเราแล้ว มันสามารถแพร่ติดอุปกรณ์อื่นที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายของเราได้ กรณีนี้จะให้เกิดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลอย่างยิ่งโดยเฉพาะขณะใช้บริการธนาคารหรือซื้อสินค้าออนไลน์ มัลแวร์ที่แฝงอยู่ยังเปิดช่องให้แฮกเกอร์สามารถก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น

  • ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของเราเพื่อนำไปขายต่อตามเว็บใต้ดิน
  • ขโมยข้อมูลการเข้าสู่ระบบเว็บไซต์ที่เราเป็นสมาชิกและสั่งซื้อสินค้าหรือบริการโดยเราไม่ได้อนุญาต
  • ขโมยข้อมูลการเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารของเราเพื่อแอบถอนเงิน
  • ใช้คอมพิวเตอร์ของเราเป็นฐานในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์กับเหยื่อรายอื่น หรือไม่ก็ใช้เครื่องเพื่อช่วยขุดเงินดิจิทัล

อุปกรณ์พวกนี้ทำงานอย่างไร

  • เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่อ Dongle หรือ Box ที่มีแอพฯ ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีการโหลดไว้ในอุปกรณ์แล้ว เท่ากับว่าแอพฯ ที่โหลดไว้ในอุปกรณ์สามารถผ่าน Firewall และระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายได้ เนื่องจากเพื่ออุปกรณ์สตรีมมิ่งคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ใช้งานได้ ผู้ใช้จำเป็นต้อง Disable โซลูชันความปลอดภัยต่าง ๆ ก่อน
  • แอพฯ จะทำการอัพเดตโดยอัตโนมัติทันที โดยผู้ใช้ไม่มีทางเลือกในการยกเลิก บ่อยครั้งการอัพเดทมักเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว เนื่องจากกำลังตื่นตาตื่นใจกับการเลือก Browse รายการต่างๆ อยู่พอดี พูดอีกนัยหนึ่ง การอัพเดทก็คือ การเตรียมอาวุธและขุมกำลังเพื่อเข้าโจมตีอุปกรณ์ภายในเครือข่ายของผู้ใช้อยู่อย่างเงียบๆ นั่นเองผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า แอพฯ ลักลอบส่งข้อมูลชื่อเครือข่าย Wi-Fi และรหัสผ่านของเหยื่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อภายในเครือข่ายของเหยื่อ โดยแฮกเกอร์เชื่อมต่อโดยใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) เพื่อปกปิดพิกัดปลายทาง หลังจากการอัพเดทครั้งแรก อุปกรณ์ตกอยู่ใต้การควบคุมของแฮกเกอร์ทันที ซึ่งหลังจากนั้น มัลแวร์ตัวใหม่ๆ อาจถูกสั่งโหลดเข้าระบบเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าร่วมในการโจมตี DDoS หรือเพื่อใช้ลักลอบอัพโหลดข้อมูลในอุปกรณ์ของเหยื่อ เช่น รูปภาพ วิดีโอ เอกสารหรือเนื้อหาส่วนตัวอื่นๆบางท่านอาจเลือกใช้วิธีการสตรีมวิดีโอจากเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งนั่นก็คือ ช่องโหว่อีกประการหนึ่งที่แฮกเกอร์นิยมล่อเหยื่อให้ติดกับ โดยผ่านเว็บไซต์ Phishing ที่ทำปลอม ซึ่งสมัยนี้ดูเผินๆ แล้วเหมือนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการจริง หากจำเป็นต้องใช้งาน เราขอแนะนำ ดังนี้
  • ก่อนที่จะคลิก URL ใดๆ ตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าโดเมนไม่มีการพิมพ์ผิดเพี้ยนหรือขาดอักษรตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อป้องกันการคลิกไปยังเว็บไซต์ Phishing ที่ทำปลอมขึ้นมา
  • อย่าคลิกไฟล์ที่อ้างว่าเป็นไฟล์วิดีโอ แฮกเกอร์มักหลอกเหยื่อให้คลิกไฟล์ประเภทที่ลงท้ายด้วย .exe / .msi / .nlk ซึ่งจะเป็นการโหลดมัลแวร์มาแทน รวมทั้งอย่าใช้บริการพวก Downloader เด็ดขาด
  • เช็คขนาดไฟล์วิดีโอก่อนโหลด อย่าลืมว่าคอนเทนต์คุณภาพระดับ HD จะมีขนาดใหญ่หลายกิกะไบต์ (GB) ขึ้นไป เมื่อเทียบกับไฟล์มัลแวร์ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก ฉะนั้นถ้าเห็นว่าไฟล์เล็ก ก็ไม่น่าจะใช่ไฟล์วิดีโอที่ต้องการโหลดนั่นเอง

อันตรายต่อผู้บริโภคนอกจากการติดมัลแวร์แฝงอยู่ในเว็บไซต์ อุปกรณ์และแอพฯ วิดีโอสตรีมมิ่งละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว การใช้บริการลักษณะนี้ยังเป็นการสนับสนุนอาชญากรรมที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจผู้ให้บริการคอนเทนต์ ซึ่งในอนาคตอาจทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถผลิตคอนเทนต์ออกมาได้ต่อไป

อ้างอิงที่มา:

https://www.consumer.ftc.gov/blog/2019/05/malware-illegal-video-streaming-apps-what-know
http://www.thansettakij.com/content/350825
https://theaseanpost.com/article/illicit-streaming-devices-growing-concern
https://www.digitalcitizensalliance.org/clientuploads/directory/Reports/DCA_Fishing_in_the_Piracy_Stream_v6.pdf
https://www.kaspersky.com/blog/tv-series-threats/26274/

บทความที่เกี่ยวข้อง